ปี 1953 Sir Edmund Hillary นักปีนเขาชาวนิวซีแลนด์พร้อมด้วย Tenzing Norgay ไกด์ชาวเชอร์ปา สามารถขึ้นไปถึงจุดสูงสุดของโลกได้สำเร็จเป็นครั้งแรก หลังจากคณะสำรวจนานาชาติพยายามจะบุกเบิกเส้นทางขึ้นจุดสูงสุดของเทือกเขาหิมาลัยอยู่หลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ เนื่องด้วยสภาพอากาศอันโหดร้ายและอันตรายที่ซ่อนอยู่ทุกจุดตลอดเส้นทาง ความสำเร็จของ Edmund และ Tenzing ในครั้งนั้น แพร่สะพัดไปทั่ว ทำให้บรรดานักปีนเขาทั่วโลกมุ่งหน้ามายังเนปาลเพื่อพิชิต Everest ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก (8,850 เมตร) เช่นกัน ผู้ช่วยสำคัญเบื้องหลังที่ทำให้นักปีนเขาหลายคนสามารถพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้สำเร็จคือผู้นำทางหรือลูกหาบชาวเชอร์ปา*
ชื่อเรียกชาวเชอร์ปา (Sherpa or Sherwa) มาจากภาษาทิเบตแปลว่า “คนตะวันออก” คนกลุ่มนี้อพยพมาจากตะวันออกของดินแดนที่เป็นที่ราบสูงทิเบตในปัจจุบัน เมื่อราว 30,000 ปีก่อนและตั้งรกรากอยู่ในเขตภูเขาสูงรอบๆเนปาลและทิเบต วิถีชีวิตผูกพันกับการเลี้ยงสัตว์ (จามรี ลาและม้า) และอาศัยในพื้นที่สูงเรื่อยมา จนกระทั่งคณะสำรวจชาวอังกฤษเริ่มบุกเบิกเข้ามาสำรวจภูมิประเทศภูเขาสูง ทีมนักสำรวจเริ่มพบว่าไกด์และลูกหาบชาวเชอร์ปามีทักษะสำคัญหลายๆอย่าง จึงว่าจ้างให้เป็นผู้นำทางเนื่องจากความแข็งแกร่งและความเชี่ยวชาญในพื้นที่
ในการปีนขึ้นสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์ ไกด์ชาวเชอร์ปาจะทำหน้าที่สำรวจเส้นทางล่วงหน้าและแบกสำภาระสำหรับตั้งแคมป์ก่อนคณะเดินทางจะขึ้นไปสู่ยอดเขาเพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัย การทำงานในพื้นที่สูงและมีข้อจำกัดเช่นนี้อาจเกินขีดจำกัดที่มนุษย์ทำได้ แต่หลายครั้งการเดินทางสู่ยอดเขาสูงเช่นนี้สำเร็จได้ด้วยทีมสำรวจและไกด์ชาวเชอร์ปา
ไกด์และลูกหาบชาวเชอร์ปามีหน้าที่ทั้งแบกหามสัมภาระและบุกเบิกเส้นทางสู่ยอดเอเวอเรสต์ พวกเขามักทำหน้าที่ได้ดีมากและดูแข็งแร็งกว่ามนุษย์พื้นราบอย่างเห็นได้ชัด ในงานวิจัยของ Rasmus Nielsen นักวิจัยที่ศึกษาลักษณะทางชีววิทยาชนเผ่าเชอร์ปา ระบุว่า ร่างกายของชาวเชอร์ปาทำงานได้ดีกว่ามนุษย์ปกติในพื้นที่สูง กลไกในร่างกายชาวเผ่าเชอร์ปาเมื่อขึ้นที่สูง ร่างกายจะใช้เม็ดเลือดแดงซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนน้อยลง ทำให้ร่างกายของชาวเชอร์ปายังทำงานได้ปกติถึงแม้ว่าออกซิเจนในอากาศจะเบาบาง อีกทั้งงานวิจัยจาก Denny Levett จาก xtreme Everest ยังระบุเพิ่มเติมว่า ไมโทคอนเดรีย (mitochondria) ในร่างกายชาวเชอร์ปาที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานของเซลล์ มีปริมาณเพียงพอในการสร้างพลังงานในสภาวะที่ออกซิเจนน้อย รวมไปถึงร่างกายยังผลิตไนตริกออกไซด์ได้เพิ่มขึ้น ทำให้ปอดและหัวใจยังคงทำงานได้เต็มที่ ซึ่งตรงข้ามกับธรรมชาติมนุษย์ทั่วไป คุณลักษณะที่ว่านี้ทำให้ชาวเชอร์ปาสามารถทำงานหนักขึ้นได้ เหนื่อยน้อยกว่า และมีภูมิคุ้มกันจากการเจ็บป่วยในระยะยาว
ในอีกมุมหนึ่งชาวเชอร์ปาก็เป็นมนุษย์ปกติที่ เกิด แก่ เจ็บ ตายและมีความรู้สึก หลายครั้งที่ความพิเศษทางร่างกายที่ธรรมชาติมอบให้ให้แก่พวกเขาก็จบลงที่ความตายในเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน ไกด์และลูกหาบชาวเชอร์ปาจำนวนกว่า 1 ใน 3 เสียชีวิตระหว่างการนำคณะขึ้นสู่ยอดเอเวอเรสต์ เพราะถึงแม้ว่าร่างกายจะทำงานได้ดีกว่ามนุษย์พื้นราบในสภาวะการณ์เช่นนั้น ไกด์และลูกหาบกลุ่มนี้ยังคงถูกลดทอนความสามารถจากภาวะการทำงานหนักที่สะสม รวมถึงความเสี่ยงทั้งจากความอันตรายของพื้นที่ ภัยธรรมชาติและข้อจำกัดต่างๆ
หลายครั้งมีคนพยายามจะทำลายสถิติด้วยการขึ้นยอดเขาเอเวอเรสต์ โดยไม่ใช้ออกซิเจน แต่มีมนุษย์เพียง 0.1 เปอเซนต์เท่านั้นที่ทำได้สำเร็จ สาเหตุเพราะร่างกายมนุษย์พื้นราบ จะทำงานหนักมากขึ้นในภาวะที่ออกซิเจนในอากาศน้อย ยิ่งขึ้นพื้นที่สูงที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลมากๆและอากาศเบาบาง ร่างกายจะปรับตัวได้ยากมากขึ้น เสี่ยงจะเกิดอาการ Altitude Sickness หรือ acute mountain sickness ; AMS ตามมาด้วยอาการปวดหัว เหนื่อยง่าย นอนไม่หลับ เลอะเลือน หรืออาจหนักขึ้นถึงขั้นเสียชีวิตเนื่องจากร่างกายปรับตัวไม่ทัน แต่กับชาวเชอร์ปา ร่างกายของพวกเขากลับมีภูมิคุ้มกันที่ดีกว่าและการไหลเวียนเลือดในร่างกายยังคงทำงานได้ตามปกติและอาจทำงานดีขึ้นเนื่องจากความคุ้นชินกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่สูง ทำให้ชาวเชอร์ปาจำนวนหนึ่งสามารถขึ้นไปพิชิตยอดเขาได้สำเร็จโดยไม่ใช้ออกซิเจนเสริม ลักษณะเฉพาะนี้ถูกถ่ายทอดกันรุ่นสู่รุ่นและกินเวลาหลายชั่วอายุคน คณะวิจัยและนักวิทยาศาสตร์หลายสำนักพยายามศึกษาลักษณะพิเศษเหล่านี้ของชาวเชอร์ปา เพื่อประโยชน์ทางด้านการแพทย์ต่อไป
* ในปัจจุบัน ไม่ได้มีแค่ชาวเชอร์ปาเท่านั้นที่ประกอบอาชีพไกด์และลูกหาบในเขตเอเวอเรสต์ มีชาวเนปาลกลุ่มชาติพันธ์อื่นๆที่ประกอบอาชีพนี้เช่นเดียวกัน แต่มักจะถูกเรียกรวมว่าชาวเชอร์ปา
Wise man is a good Sherpa; He takes you to the highest place
– Mehmet Murat Ildan –
#Nepal#Nepal101
#LifeLearningThroughTraveling
#nepal101series#sherpa