สถานะผู้หญิงในสังคมถูกกดทับ จนมีคำกล่าวที่ว่า “เกิดเป็นวัวในสังคมอินเดียยังจะดีกว่าเกิดเป็นสตรี” เพราะอย่างน้อย วัวซึ่งสังคมอินเดียถือว่าเป็นเทพเจ้าพาหนะของพระศิวะ ก็ยังได้รับการนับถือและยกย่องจากคนทั่วไป มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีอิสระ ที่สำคัญคือมีคนพิทักษ์ดูแลตลอดเวลา- (ข้อความจาก www.the101.world)
ในสังคมฮินดู ผู้หญิงจัดว่ามีสถานะที่ด้อยกว่าผู้ชายในแทบทุกด้านตั้งแต่อดีตมา ด้วยธรรมเนียมสังคมแบบชายเป็นใหญ่หรือ patriarchy ทำให้สถานะความเป็นผู้หญิงเสียเปรียบผู้ชายในหลายๆด้าน เห็นได้จากปัญหาความไม่เท่าเทียมทางกฏหมายในอินเดีย เช่นการที่ภรรยาไม่สามารถฟ้องร้องสามีตัวเองได้ในกรณีที่ฝ่ายชายไปมีความสัมพันธ์นอกสมรส การที่ผู้หญิงไม่ได้รับโอกาสได้เข้าสู่ระบบการศึกษาที่ดีเพียงพอ หรืออย่างกรณีประเพณีเชาปาดีในเนปาลซึ่งให้ผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือนอาศัยนอกบ้านและมีข้อห้ามหลายประการ ทำให้พวกเธอเหล่านั้นถูกเลือกปฎิบัติจากคนในครอบครัว ซึ่งเห็นได้ชัดว่าแม้แต่เรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างการมีประจำเดือนยังนำพาซึ่งความน้อยเนื้อต่ำใจในการเกิดเป็นลูกผู้หญิง และถึงแม้ว่าธรรมเนียมเหล่านี้จะเริ่มถูกตั้งคำถามมากขึ้นในโลกสมัยใหม่ แต่ด้วยระบบสังคมที่ยึดกับขนบแบบเก่า เราจึงยังคงพบเห็นปัญหาเหล่านี้อยู่เรื่อยมา
อีกตัวอย่างสำคัญของความเสียเปรียบของการเป็นผู้หญิง คือหลายครั้งในกรณีที่มีการแจ้งความร้องทุกข์เรื่องการถูกข่มขืน ตำรวจท้องถิ่นมีแนวโน้มจะตั้งข้อสงสัยว่าผู้หญิงที่มาแจ้งความ “กุเรื่องเพื่อเรียกร้องความสนใจ” การตัดสินแบบนี้ทำให้ผู้ก่อเหตุหลายรายหลุดพ้นข้อกล่าวหาอย่างง่ายดาย โดยอาจจะไม่มีการสอบสวนเสียด้วยซ้ำ
ส่วนในด้านการมีชีวิตครอบครัว อย่างที่กล่าวไปในตอนที่แล้ว ระบบสินสอดก็เป็นความรับผิดชอบของครอบครัวฝ่ายหญิงที่จะต้องจ่ายให้กับครอบครัวฝ่ายชาย เพราะถือว่าบ้านฝ่ายชายต้องมีภาระเลี้ยงดูเพิ่มขึ้น และหลังจากแต่งงานไปแล้วผู้หญิงก็ต้องทำงานหนักมาก ทั้งในบ้านนอกบ้าน ทั้งยังต้องฝ่าด่านแม่สามีไปจนกว่าจะสามารถพิสูจน์ตัวเองได้ ธรรมเนียมลักษณะนี้สะท้อนให้เห็นว่ากว่าสตรีจะมีความเป็นอยู่ที่ดีและมีหน้ามีตาในสังคมก็ด้วยการแต่งงานมีสามีและมีครอบครัวที่ดี
ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน สถานภาพของสตรีในสังคมก็ถูกยกระดับขึ้นมามาก โดยผู้หญิงสามารถเข้าถึงการศึกษา และทำงานต่างๆ รวมถึงเป็นผู้นำในหน่วยงานได้ไม่แพ้ผู้ชาย แต่ก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความไม่เท่าเทียมทางเพศ โดยเฉพาะในเขตชนบท ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลมาจากความเชื่อทางศาสนาและระบบสังคมที่มีมาอย่างยาวนาน ความพยายามที่จะยกเลิกกฏเกณฑ์หรือแก้ไขกฏหมายบางประการเพื่อเพิ่มสิทธิแก่ผู้หญิงจึงเป็นสิ่งที่หลายองค์กรกำลังเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
อ้างอิง
http://www.mahavidya.ca/2008/06/23/womens-roles-in-hinduism/
https://gmlive.com/india-supreme-court-revokes-adultery-law
https://www.the101.world/woman-rights-in-india/
https://prachatai.com/journal/2005/12/6727
#Nepal #Nepal101
#LifeLearningThroughTraveling
#nepal101series #rightsofwomen