ในสังคมไทย การจะให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายยกขันหมากไปสู่ขอเจ้าบ่าวคงเป็นเรื่องที่ผิดธรรมเนียม แต่ในทางกลับกัน ธรรมเนียมการแต่งงานตามแบบฉบับของสังคมชาวฮินดู ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายต้องมาสู่ขอฝ่ายชาย ทั้งยังต้องออกค่าใช้จ่ายในการแต่งงานทั้งหมดหรือตามแต่ตกลงกัน โดยเมื่อถึงวัยที่เหมาะสม ครอบครัวฝ่ายหญิงก็มีหน้าที่หา “เจ้าบ่าว” มาเป็นเขยกันอย่างสุดความสามารถ
การแต่งงานถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งตามวิธีคิดแบบฮินดู ซึ่งการไม่มีคู่หรือการขึ้นคานถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ฝ่ายพ่อแม่ทั้งหลายจึงพยายามที่จะไม่ให้ลูกสาวหรือลูกชายตัวเองต้องค้างอยู่บนคาน ทั้งการจากใช้แม่สื่อแม่ชักหรือการใช้บริการตลาดหาคู่ แต่การหาคู่ให้ได้ตามใจต้องการนั้นยากซะเหลือเกิน ทั้งคุณสมบัติที่ต้องเป็นคนสมฐานะกันหรืออยู่ในวรรณะเดียวกัน ทั้งเรื่องจำนวนผู้ชายที่น้อยกว่าผู้หญิง ทำให้โอกาสที่ฝ่ายหญิงจะขึ้นคานยิ่งเยอะขึ้นไปอีก ซึ่งบ้านไหนลูกสาวโปรไฟล์ไม่สูง ก็ต้องสู้ด้วยการเพิ่มข้อเสนอแก่ครอบครัวฝ่ายชาย บางครอบครัวถึงขั้นเริ่มเก็บเงินเพื่อสินสอดตั้งแต่ลูกสาวยังเด็กกันเลยทีเดียว แต่ข้อดีของวิธีการนี้คือการที่ฝ่ายหญิงเล่นเกมเป็นผู้เลือก ไม่ได้เป็นผู้ถูกเลือกซึ่งเป็นการคัดกรองได้ระดับหนึ่ง
การให้สินสอดนั้น เหมือนเป็นการซื้อใจ “คู่ครอง” และครอบครัวฝ่ายชายให้ดูแลลูกสาวอย่างดีไปตลอดรอดฝั่ง และยังมีความเชื่อที่ว่าผู้หญิงที่ไม่มีสามี หรือมีสามีแต่ไม่มีลูกเป็นหญิงอาภัพ การมีสามีจึงเหมือนการได้มีเทพเจ้าในบ้าน (parameshwar หรือ पतीपरमेश्वर ) การได้มาซึ่งเทพเจ้านั้นก็จำเป็นต้องจ่ายค่าบูชาเป็นค่าสินสอดไปนั่นเอง
นอกจากการหาสินสอดมาสู่ขอฝ่ายชายแล้ว หลังแต่งงานเข้าไปอยู่ในบ้านฝ่ายชาย ผู้หญิงจะต้องมีหน้าที่ปรณนิบัตทุกคนในบ้านตั้งแต่สามี แม่สามี พ่อสามีหรือบรรดาญาติๆ หน้าที่เกือบทุกอย่างในบ้านจะตกเป็นของลูกสะใภ้ เธอต้องตื่นก่อนนอนทีหลังเสมอ สะใภ้ต้องเป็นฝ่ายอดทนและยอมรับเพื่อให้การครองชีวิตคู่อยู่รอดต่อไป
สาเหตุหลักๆ ของธรรมเนียมนี้มาจากธรรมเนียมการแต่งงานเข้าไปอยู่ในบ้านสามี ซึ่งหลังแต่งงานครอบครัวฝ่ายชายต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆในการดูแลฝ่ายหญิงทั้งหมด ค่าสินสอดจึงมีเพื่อแลกเปลี่ยนกับค่าใช้จ่ายที่ฝ่ายชายต้องดูแลฝ่ายหญิงไปตลอด ถึงแม้ว่าในปัจจุบันผู้หญิงจะทำงานนอกบ้านและหาเงินได้อย่างเท่าเทียมกับฝ่ายชาย ธรรมเนียมนี้ก็ยังไม่เปลี่ยนไป
แนวคิดนี้อาจจะเป็นธรรมเนียมที่ตรงข้ามกับสังคมไทยเราอย่างสิ้นเชิง ซึ่งด้วยชุดความคิดที่แตกต่าง คนไทยอาจจะมองว่าเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม และขัดกับธรรมเนียมบ้านเราที่เห็นคุณค่าของฝ่ายหญิงมากกว่าสังคมฮินดู แต่อย่างไรก็ตาม รากความคิดและขนมธรรมเนียมที่แตกต่าง ก็เป็นพื้นฐานของสังคมที่ต่างกัน และเป็นเรื่องยากนักที่จะฟันธงว่าธรรมเนียมแบบไหนที่ควรจะถูกยึดเป็นบรรทัดฐานของสังคมสมัยใหม่กันแน่
อ้างอิง
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=moti&group=2
https://palungjit.org/threads
http://www.weddinghitz.com
http://www.crs.mahidol.ac.th/thai/hindu00.htm